ผี และวิญญาณ (1)

ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร “สารคดี” ปีที่ 28, ฉบับที่ 331, ก.ย. 2555

——————————————————————————-

เมื่อเอ่ยถึงคำว่า ผี (ghost) จะมีอีกคำตามมาด้วยทันทีคือ วิญญาณ (soul) ในภาษาอังกฤษยังมี spirit อีกคำหนึ่งด้วย คำพวกนี้เหมือนหรือต่างกันอย่างไร

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 (ขอเรียกย่อเป็น พจนานุกรมราชบัณฑิตฯ) ให้ความหมายไว้ว่า ผี คือ “สิ่งมนุษย์เชื่อว่าเป็นสภาพลึกลับ มองไม่เห็นตัว แต่อาจจะปรากฏเหมือนมีตัวตนได้ อาจให้คุณหรือโทษได้ มีทั้งดีและร้าย เช่น ผีปู่ย่าตายยาย ผีเรือน ผีห่า, เรียกคนที่ตายไปแล้ว และในภาษาโบราณอาจใช้เรียก เทวดา ด้วยเช่นกัน”

ส่วน วิญญาณ มีหลายความหมาย เช่น “สิ่งที่เชื่อกันว่ามีอยู่ในกายเมื่อมีชีวิต เมื่อตายจะออกจากกายล่องลอยไปหาที่เกิดใหม่”

แต่วิญญาณยังมีความหมายอื่นอีก และสำหรับศาสนาพุทธแล้ว วิญญาณหาใช่ที่กล่าวข้างต้นนี้ไม่

วิญญาณทางพุทธ ไม่เป็นดวง ไม่ใช่ผีสาง

พจนานุกรมราชบัณฑิตฯ ระบุว่า “วิญญาณ” คือ “ความรับรู้ เช่น จักษุวิญญาณ คือ ความรับรู้ทางตา โสตวิญญาณ คือ ความรับรู้ทางหู ถือเป็นขันธ์ 1 ในขันธ์ 5 คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ฉบับประมวลศัพท์ของ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) (ขอเรียกย่อเป็น พจนานุกรมพุทธศาสน์ฯ) ระบุว่า วิญญาณ คือ “ความรู้แจ้งอารมณ์, จิต, ความรู้ที่เกิดขึ้นเมื่ออายตนะภายในและอายตนะภายนอกกระทบกัน เช่น รู้อารมณ์ในเวลาเมื่อรูปมากระทบตา เป็นต้น ได้แก่ การเห็น การได้ยิน เป็นอาทิ”

วิญญาณทางพุทธเท่ากับ consciousness หรือ sense-awareness แต่ไม่เท่ากับ soul หรือ spirit

ในพจนานุกรมราชบัณฑิตฯ ยังมีคำว่า เจตภูต ที่หมายถึง “วิญญาณที่สิงอยู่ในตัวคน กล่าวกันว่าออกจากร่างได้ในเวลานอนหลับ” อีกคำหนึ่งด้วย

พจนานุกรมพุทธศาสน์ฯ ให้ความหมายคำว่า “เจตภูต” ไว้ว่าเป็น “สภาพเป็นผู้คิดอ่าน, ตามที่เข้าใจกัน หมายถึง ดวงวิญญาณหรือดวงชีพอันเที่ยงแท้ที่สิงอยู่ในตัวคน กล่าวกันว่าออกจากร่างได้ในเวลานอนหลับ และเป็นตัวไปเกิดใหม่เมื่อกายนี้แตกทำลาย เป็นคำที่ไทยเราใช้เรียกแทนคำว่า อาตมัน หรือ อัตตา ของลัทธิพราหมณ์ และเป็นความเชื่อนอกพระพุทธศาสนา”

จะเห็นได้ว่าวิญญาณทางพุทธไม่เป็นดวงๆ ลอยออกจากร่าง แต่วิญญาณนอกพุทธพวกนั้นหากไม่ตายก็ยังไม่ออกจากร่างแบบถาวร แต่อาจเป็นเจตภูตแอบหนีเที่ยวได้ตอนเรานอนหลับ เจตภูตกับวิญญาณจึงอาจจะเป็นสิ่งเดียวกัน แต่ก็ไม่มีที่ใดฟันธงว่าวิญญาณเท่ากับผีหรือไม่

แวดวงวิทยาศาสตร์ที่ต้องการหลักฐานหนักแน่น ตรวจวัด และพิสูจน์ซ้ำได้ นักวิทยาศาสตร์อธิบายเรื่องผี เจตภูต และวิญญาณ ว่าอย่างไรกันแน่

เมื่อนักวิทย์คิด (ตรวจ) จับผี

เรื่องหนึ่งที่มักเข้าใจผิดกันคือ นักวิทยาศาสตร์ไม่สนใจหรือไม่วิจัยเกี่ยวกับปรากฏการณ์แปลกๆ เหนือธรรมชาติ (paranormal) กันเลย ความจริงมีนักวิทยาศาสตร์ที่สนใจเรื่องพวกนี้อยู่บ้าง แต่คนที่ทำอย่างจริงจังมีอยู่น้อยจริงๆ อาจเพราะกลัวคำครหา ไม่ก็นึกหาวิธีการเหมาะสมยังไม่ได้ หรือหาเงินทุนมาสนับสนุนยาก

แต่ก็ยังพอมีงานวิจัยแบบนี้ตีพิมพ์อยู่บ้างเหมือนกัน แม้นักวิทยาศาสตร์ตัวจริงจะใช้อุปกรณ์วิทยาศาสตร์ในการตรวจจับผีก็ตาม แต่ก็แตกต่างจากที่ใช้กันในรายการตามลาหาผีทั้งหลายทางโทรทัศน์อยู่บ้าง ที่จะเล่าต่อไปนี้เป็นผลงานของ ริชาร์ด ไวส์แมน (Richard Wiseman) แห่งมหาวิทยาลัยเฮิร์ทฟอร์ดไชร์ ท่านผู้นี้ก็ไม่ใช่คนอื่นคนไกล เป็นคนวิจัยเรื่องดวงที่ผมเคยกล่าวถึงในตอน “ดวง เคราะห์ และโชค” นั่นแหละครับ

งานวิจัยนี้ไม่ธรรมดาครับ เพราะไปถ่ายทำ เอ๊ย วิจัยที่พระราชวังแฮมพ์ตันคอร์ท (HamptonCourtPalace) ของอังกฤษกับที่ เซ้าธ์บริดจ์ฟอลท์ส (South Bridge Vaults) ในเอดินเบอระ สก็อตแลนด์ ที่ต่างก็ขึ้นชื่อว่าเฮี้ยนน่าดู

แฮมพ์ตันคอร์ท พระราชวังผีสิง

งานวิจัยแรกสุดทำที่พระราชวังแฮมพ์ตันคอร์ท ซึ่งพระราชวงศ์อังกฤษใช้ประทับยาวนานกว่า 500 ปีจึงขรึมขลังอย่างไม่ต้องสงสัย ปัจจุบันเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์โด่งดังและติดอันดับ “สถานที่เฮี้ยนที่สุดในอังกฤษ” อีกด้วยจากปูมหลังทางประวัติศาสตร์ของวังเอง

วังแห่งนี้เคยเป็นที่ประทับของ พระนางแคทเธอรีน โฮเวิร์ด (Catherine Howard) ที่เข้าพระราชพิธีอภิเษกสมรสกับกษัตริย์เฮนรีที่แปด ใน ค.ศ.1540 แต่หลังจากนั้น 15 เดือนก็โดนจับได้ว่าคบชู้และโดนตัดสินประหารชีวิต ในตำนานร่ำลือกันว่าพระนางอ้อนวอนขอพระราชทานอภัยโทษจากพระราชา แต่ก็ยังโดนจับลากตัวออกไปผ่านส่วนที่ปัจจุบันเรียกว่า ห้องแสดงภาพผีสิง (The Haunted Gallery)

จนปลายศตวรรษดังกล่าวก็มีเสียงร่ำลือหนาหูว่า ผีพระนางปรากฏตัวในห้องแสดงภาพดังกล่าวในรูปสาวชุดขาว ทั้งยังมีเสียงกรีดร้องที่หาต้นตอไม่ได้เนืองๆ ภายหลังยังพบปรากฏการณ์แปลกๆ เช่น อุณหภูมิห้องลดลงฉับพลันชวนเสียวสันหลัง ความรู้สึกอย่างรุนแรงว่ามีผู้อื่นอยู่ด้วยในห้องดังกล่าวทั้งๆ ที่ไม่มีใครเลย บ้างก็จู่ๆ วิงเวียนจะเป็นลมขึ้นมา

Ghost Buster พลพรรคดักจับผี

ค.ศ.1999 ศาสตราจารย์ไวส์แมนและทีมงานด็อกเตอร์ขวัญแข็ง ประกอบด้วย ดร.แคโรลีน วัตต์ พอล สตีเวนส์ เอมมา กรีนนิ่ง และเซียแรน โอคีฟ เข้าไปตรวจสอบในพระราชวังดังกล่าว นับเป็นครั้งแรกที่นักวิทยาศาสตร์ได้เข้าไปศึกษาปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติในที่นั้น

งานวิจัยนี้ใช้คนทั่วไปมากกว่า 600 คน โดยให้เดินไปมาทั่วบริเวณพระราชวังนี้ พร้อมกับจดบันทึกตำแหน่งที่พบเรื่องแปลกๆ มีการติดตั้งอุปกรณ์ตรวจสอบหลายแบบไว้ด้วย หลักๆ ก็เป็นกล้องจับความร้อน และเซ็นเซอร์จับสนามแม่เหล็กหรือสนามไฟฟ้า แต่ก่อนเริ่มภารกิจทั้งหมดนั้นอาสาสมัครต้องทำแบบสอบถามที่ใช้แยกแยะระหว่างผู้เชื่อและไม่เชื่อเรื่องผีเสียก่อน

ข้อสรุปหลักๆ ที่ได้น่าสนใจดีครับ เช่น คนที่เชื่อเรื่องผีสางเทวดารายงานว่าพบผี “มากกว่า” พวกที่ไม่เชื่อ และมักเชื่อจริงจังว่าสิ่งที่เจอเป็นผีอีกด้วย ไม่แปลกใจที่มีคนว่าผีมักจะหลอกคนที่กลัวกล่าวอีกนัยหนึ่งผีจำนวนไม่น้อยอาจมาจากจิตใจของคนๆ นั้นสร้างขึ้นนั่นเอง

มีการเปรียบเทียบอีกแบบหนึ่งด้วย โดยแบ่งอาสาสมัครเป็นสองกลุ่มย่อย กลุ่มหนึ่งทางผู้ทดลองบอกก่อนว่า พื้นที่ที่จะเข้าไปเพิ่งมีรายงานเรื่องปรากฏการณ์ประหลาด ขณะที่อีกกลุ่มไม่ได้บอก ผลก็ชัดเจนดีว่าอาสาสมัครกลุ่มแรกรายงานว่าพบเจอเหตุการณ์ประหลาดมากกว่าอีกกลุ่มอย่างมีนัยสำคัญ

ในกลุ่มแรกนี้ คำพูดคนอื่นจึง “สร้างผี” ขึ้นในใจผู้ฟังได้

ที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่งก็คือ บรรดาคนที่รู้สึกถึงความผิดปกติต่างระบุตำแหน่งจำเพาะที่ซ้ำๆ กัน เมื่อตรวจสอบดูก็พบว่าบางตำแหน่งมีปรากฏการณ์ธรรมชาติพื้นๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิหรือการกระโชกของลมเฉพาะจุด อันเป็นผลจากโครงสร้างของปราสาทเอง หรือไม่ก็เป็นผลจากสนามแม่เหล็กเฉพาะตำแหน่งนั้นๆ หรือแม้แต่ความเข้มของแสงเงาตรงจุดนั้นๆ

ผู้วิจัยจึงสรุปได้ว่าปรากฏการณ์ผีสิงที่พบ อย่างน้อยบางส่วนเป็นผลทางจิตวิทยา และจากปรากฏการณ์ธรรมชาติรูปแบบต่างๆ และเมื่อทดสอบเพิ่มเติมที่เซ้าธ์บริดจ์ฟอลท์ส ก็ได้ผลที่คล้ายคลึงกัน

คราวหน้ามาดูกันว่านักวิทยาศาสตร์ใช้ความรู้ทางฟิสิกส์ในการจำแนกแยกแยะว่า หากผีมีจริงพวกมันควรจะต้องเป็นเช่นใดกันแน่ และพฤติกรรมของผีในภาพยนตร์และนิยายหลายๆ เรื่อง เป็นไปไม่ได้เพราะเหตุใด

 

8 thoughts on “ผี และวิญญาณ (1)

  1. มองต่างมุม

    ทางพุทธฯ หรือ การฝึกสมาธิเรียกว่า นิมิต ครับ มีทั้ง จริง และ ปลอม ส่วนมากจะเชือในสิ่งที่ปลอม ถ้ามากเข้า ก็วิปลาศ หรือ มีความคิดคลาดเคลื่อนจากสิ่งที่เป็นจริง หรือ บ้าได้ ก๊มีครับ ^_^

    จิต เป็น สิ่งที่ไม่มีรูปร่าง ไม่มีสัณฐาน
    วิญญาณ เป็น ช่องทางนึงในการรับรู้ เข้าสู่ จิต

    สิ่งที่คนเรียกว่า ผี รูปร่างลักษณะที่ปรากฏ ขึ้นอยู่กับ กรรม ที่ทำยามก่อนที่จะตาย หากไม่ไป ถ้าเป็นลักษณะนี้ ตามที่คนพบว่า มีปรากฏอยู่ตามท่ต่างๆ นั้น เรียกการเกิดแบบนี้ว่า โอปาติกะ

    ขอกล่าวถึงการกำเนิดของสัตว์ ( สัตว์ในที่นี้ คือ จิต ที่ไปเกิดในภพภูมิ ต่างๆ ตามคำสอนในศาสนาพุทธ เช่น คน , สัตว์เดรัจฉาน , เทวดา )

    ทางพุทธแยกการเกิดออกเป็นดังนี้ครับ

    การกำเนิดของสัตว์ มี 4 ประเภทดังนี้

    1. อัณฑชะ กำเนิดของสัตว์ที่เกิดในไข่

    2. ชลาพุชะ กำเนิดของสัตว์ที่เกิดในครรภ์

    3. สังเสทชะ กำเนิดของสัตว์ที่เกิดในเหงื่อไคล

    4. โอปปาติกะ กำเนิดของสัตว์ที่เกิดผุดขึ้นเป็นตัวทันที โดยฉับพลัน

    อัณฑชะ คือ เหล่าสัตว์ที่เกิดในไข่ เรียกว่าอัณฑชะ เช่น ไก่ เป็ด เป็นต้น

    ชลาพุชะ คือ เหล่าสัตว์ที่เกิดในครรภ์ เรียกว่า ชลาพุชะ เช่น มนุษย์ เป็นต้น

    สังเสทชะ คือ เหล่าสัตว์ที่เกิดในเหงื่อไคล หมายถึงเกิดในสิ่งสกปรก เช่น เกิดในของ

    บูดเน่าหรือในน้ำสกปรก ก็เกิดเป็นแมลงที่เป็นตัวอ่อน เป็นต้น

    โอปปาติกะ คือเหล่าสัตว์ที่เกิดผุดขึ้น เป็นตัวทันที โดยฉับพลัน

  2. นิมิตส่วนนิมิตนะครับ ครูบาอาจารย์เก่าๆ ยังมีกล่าวว่า “ที่เห็นน่ะเห็นจริง แต่ที่เห็นน่ะไม่จริง” เอาไว้เตือนเวลาเห็นนิมิิต ผี วิญญาณในนิมิต มากันแบบผีหรือวิญญาณแบบพราหมณ์ ฮินดูกันซะทั้งนั้น

    ส่วนเรื่องการเกิดแบบ 1 และ 2 ต.ย. แยะ แบบ 3 นี่ คงพออนุโลม พวกสิ่งมีชีวิตที่เล็กเกินตามองเห็นได้ ส่วนแบบที่ 4 ทางวิทยาศาสตร์ ยังไม่มีใครพิสูจน์ให้เห็นจริงได้เลยครับ

    เรื่องน่าปวดหัวเรื่องหนึ่งในปัจจุบันคือ จะพยายามเอาวิทย์กับพุทธให้ลงรอยกันให้หมด ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้ ด้วยหลายๆ สาเหตุ

ใส่ความเห็น